Sunday, 19 January 2025

งานสัมมนาเครือข่ายงานอภิบาลกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย

27 Jun 2023
240

งานสัมมนาเครือข่ายงานอภิบาลกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย

วันที่   20   มิถุนายน   2023   เวลา 08.30 น. -16.00 น.

ณ ห้องประชุมศูนย์อภิบาลคามิลเลียน ลาดกระบัง กรุงเทพฯ

หลักการและเหตุผล

            กลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายในประเทศไทย มีจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน ประกอบไปด้วย 1) แรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จำนวนมากกว่า 4.6 ล้านคน[1] 2) ผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบประเทศเมียนมา 9 แห่ง ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา จำนวนกว่า  94,000 ราย และ ผู้ลี้ภัยในเมืองมากกว่า 40 สัญชาติ จำนวนกว่า 4,000 ราย ทั้งนี้ มีผู้ลี้ภัยทั่วโลกจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน[2]

            จากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและเหตุการณ์ความไม่สงบจากภัยสงคราม การกดขี่ทางศาสนา ในหลายประเทศ พวกเขาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องการแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และความต้องการที่จะแสวงหารายได้ที่เพียงพอเพื่อจุนเจือครอบครัว ทำให้บุคคลและครอบครัวมีการเคลื่อนย้ายไปอาศัยในประเทศที่เขารู้สึกว่าปลอดภัย และเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ดังเช่น ประเทศไทย และมีประเทศอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นจุดหมายของกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายเหล่านี้

            ในระหว่างการเดินทาง พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ถูกทำร้าย เรียกรับเงิน ถูกทิ้งไว้กลางทางหรือในป่าลึก ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย และขาดแคลนอาหาร หลายรายถูกขายต่อเพื่อเป็นแรงงานทาสหรือถูกขายอวัยวะ หรือแม้แต่ถูกข่มขืนขณะเดินทาง เมื่อถึงประเทศปลายทางยังต้องเผชิญกับนายหน้าที่หลอกลวงเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการอยู่รอด หรือเพื่อแลกกับการที่จะได้ทำงานในประเทศปลายทาง นอกจากนี้ ยังถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบในการทำงาน เช่น ไม่จ่ายเงินเดือน เรียกเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ บังคับกักขัง ทำงานที่ผิดกฎหมาย บังคับให้ค้าประเวณี หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนที่มีการเรียกเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับอิสระภาพและการมีงานทำ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนำมาสู่สาเหตุของการถูกหลอกลวง การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ อันส่งผลร้ายต่อการคุกคามสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง

            จากสถานการณ์ข้างต้น ส่งผลให้มีหลายหน่วยงานที่ได้เห็นผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย และได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลเอาใจใส่ให้พวกเขาเหล่านั้น ให้ได้รับและเข้าถึงสิทธิตามหลักมนุษยธรรม เช่น การจัดการศึกษา การดูแลสุขภาพ การช่วยเหลือด้านกฎหมาย การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ การดูแลสิ่งแวดล้อมและมีพื้นที่ปลอดภัย การดูแลผู้ติดตาม การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย

            พระศาสนจักรในประเทศไทยและพระศาสนจักรสากล ตระหนักถึงความสำคัญในการดูและเอาใจใส่กลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย พระสันตะปาปาหลายพระองค์ โดยเฉพาะพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ในการแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่จะดูแลกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย โดยรักและรับใช้ “It is not just about migrant: it is about all of us”. “นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้อพยพอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์เราทุกคน” พระสันตะปาปาฟรังซิสได้กล่าวไว้ในสาส์นเนื่องในวันผู้อพยพและผู้ลี้ภัยโลก – World Day of Migrant and Refugee  เมื่อ วันที่ 29 กันยายน 2019 ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ได้กล่าวถึงกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย และพระศาสนจักรสากลได้ให้แนวทางในการปฏิบัติต่อคนเหล่านั้น โดย ให้การต้อนรับเขา (welcome) ปกป้องพวกเขา (protect) สนับสนุนเขาในสิ่งที่ถูกต้อง (promote) และบูรณาการงานเข้ากับสังคมและพันธกิจของตน (integrate)[3] โดยยึดหลักพระวรสาร “ เมื่อเราหิวท่านให้เรากิน เรากระหายท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้าท่านก็ต้อนรับ” (มธ.25:35) ทั้งนี้ หลายภาคส่วนในพระศาสนจักรคาทอลิก ได้นำพระดำรัสของพระองค์มาปรับใช้กับงานพัฒนาและอภิบาลกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายตามพระพรและความถนัดของตน เพื่อช่วยให้เขาเหล่านั้นได้บรรเทาและหลุดพ้นจากความยากลำบากที่เผชิญในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นหากได้รวบรวมหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ เหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการพัฒนาและอภิบาลกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นงานอันยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักรในประเทศไทย

            ด้วยเหตุผลทั้งปวง People on the Move Unit (PMU) ของคาริตัสไทยแลนด์ จึงแสวงหาความร่วมมือและองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างพลังและส่งเสริมภาพลักษณ์ในการพัฒนาและอภิบาลกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย จึงขอเชิญชวนท่านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายรวมเป็นส่วนหนึ่งในการเสวนาในครั้งนี้

วัตถุประสงค์

  • เพื่อรับฟังสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย
  • เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และรับฟังข้อเสนอแนะจากแต่ละภาคส่วน
  • เพื่อกำหนดแนวทางในการทำงานกับกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายของเครือข่ายองค์กรคาทอลิก

กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 40 ท่าน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

  • หน่วยงานภายใต้ฝ่ายสังคมในแต่ละสังฆมลฑล
  • หน่วยงานภายใต้คณะนักบวชชายและหญิง
  • กลุ่มองค์กรวัดและองค์กรคาทอลิกต่างๆ
  • หน่วยงานภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
  • ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จากเครือข่าย MWG

วันดำเนินการ   20 มิถุนายน 2023 เวลา 08.30 น. – 15.30 น.

สถานที่ ศูนย์อภิบาลคามิลเลียน ลาดกระบัง กรุงเทพฯ

ผลที่คาดว่ารับได้รับ

  • เข้าใจสถานการณ์และเข้าใจปัญหาของกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย
  • เกิดแผนงานและมีทิศทางการทำงานร่วมกันในกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย
  • มีเครือข่ายของหน่วยงานและองค์กรคาทอลิกในการทำงานทั่วประเทศ รวมถึงประเทศต้นทาง

งบประมาณ      คาริตัสไทยแลนด์ แผนกผู้อพยพย้ายถิ่นและเครือข่าย

กำหนดการ ตามเอกสารแนบ TBC

หมายเหตุ ขอเชิญลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมสัมมนา ผ่าน Google Form:                   

สถานที่สัมมนา:

ติดต่อสอบถาม คุณรุ่งนภา ตาวงศ์ โทร. 086-987-6886, คุณพิกุลทอง พันธุระ โทร. 061-547-8791


[1] Migrant Working Group-MWG

[2] UNHCR website

[3] POPE Message, World Day Migrant and Refugee 2022