พัฒนาความร่วมมือ
งานต่อต้านการค้ามนุษย์
เราเป็นเพียง “เครื่องมือ” เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น เพื่อให้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมีที่พึ่งพิงและไว้ใจได้… “เครื่องมือ” สองหน่วยงานมาพบกัน เพื่อให้คนที่ประสบปัญหาได้เข้าถึงเครื่องมือมากขึ้น
หน่วยงานและภาคีคาทอลิกของกรรมาธิการฝ่ายสังคม (คาริตัสไทยแลนด์) และกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมประชุมเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 40 คน ที่อาคารสภาพระสังฆราชคาทอลิกฯ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2024
การประชุมร่วมกันครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประสานงานจากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความประสงค์ในการขอเข้าพบหน่วยงานและภาคีคาทอลิกของคาริตัสไทยแลนด์ที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ในด้านต่าง ๆ และหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือการทำงานร่วมกันให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
คุณพ่อไพรัช ศรีประเสริฐ เลขาธิการ คาริตัสไทยแลนด์ กล่าวต้อนรับผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่จากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ และอธิบายว่าเครือข่ายคาทอลิกที่ทำงานด้านต่อต้านการค้ามนุษย์ มีทั้งในระดับประเทศและระดับสากล การประชุมครั้งนี้เพื่อร่วมกันมองในเชิงนโยบายว่าจะสามารถร่วมมือกันได้อย่างไร เพื่อทำให้ความร่วมมือนี้ ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่ง “เราเป็นเพียงแค่เครื่องมือเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น เพื่อให้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมีที่พึ่งพิงและไว้ใจได้”
นายรัชพล มณีเหล็ก ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กล่าววัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ว่าที่ผ่านมา ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในพื้นที่มีการดำเนินงานร่วมกับหลายองค์กรที่เป็นเครือข่ายคาทอลิก โดยอยากมีความร่วมมือในระดับส่วนกลาง เพื่อขยายงานเพิ่มขึ้น โดยทราบว่าทางคาทอลิกมีกิจกรรมด้านต่อต้านการค้ามนุษย์ที่หลากหลาย รวมถึงงานในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ ด้านการป้องกัน และทางสภาการศึกษาคาทอลิกฯ มีโรงเรียนในสังกัดเป็นจำนวนมาก คิดว่าจะมีโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกัน “ชื่นชอบที่คุณพ่อไพรัชบอกว่าเราเป็นแค่เครื่องมือ วันนี้ “เครื่องมือ” สองหน่วยงานมาพบกัน คิดว่าเราจะทำให้คนที่ประสบปัญหาได้เข้าถึงเครื่องมือมากขึ้นว่ามีเครือข่าย มีองค์กรที่ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือ”
นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีนำเสนอการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ในด้านต่าง ๆ
นายจีรวัฒน์ เจนผาสุก ผู้ประสานงานโครงการ คาริตัสไทยแลนด์ นำเสนอเกี่ยวกับ “เครือข่ายคาทอลิกไทยเพื่องานต่อต้านการค้ามนุษย์ – CNATT” โดยกล่าวถึงพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรในประเทศไทย การทำงานของคาริตัสไทยแลนด์ การยืนอยู่บนฐานของจิตตารมณ์ในการทำงาน และอ้างถึงคำปราศรัยต่อผู้เข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่ระบุไว้ว่า “หน้าที่ของ “นักมนุษยธรรมและนักสังคมสงเคราะห์ คือ การให้การต้อนรับเหยื่อด้วยความอบอุ่นแบบมนุษย์ และให้มีความเป็นไปได้ในการสร้างชีวิตใหม่”
เซอร์ฟรังซัวส ชีรานนท์ ประธาน Talitha Kum Thailand และเซอร์มารีอักแนส บัวทรัพย์ นำเสนอเกี่ยวกับ “เครือข่ายนักบวชไทยต่อต้านการค้ามนุษย์ – Talitha Kum Thailand” โดยเซอร์ฟรังซัวส ชีรานนท์ ประธาน Talitha Kum Thailand เริ่มต้นด้วยการอธิบายคำว่า Talitha Kum แปลว่า “หนูเอ๋ย ลุกขึ้นเถิด” (ลูกา 8:54) เป็นเรื่องของเด็กที่เสียชีวิตแล้ว และพระเยซูเจ้าได้ช่วยให้มีชีวิตขึ้นใหม่ เหมือนกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ “เราพยายามทำเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า คือไปช่วยเขาให้รอดพ้นจากภาวะที่เป็นอยู่ หาอาชีพให้เขาทำเท่าที่จะทำได้ เราจะดูแลเขาจนกว่าเขาจะสามารถช่วยตัวเองได้”
เซอร์มารีอักแนส บัวทรัพย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า Talitha Kum Thailand ตั้งเป็นองค์กรเมื่อปี 2009 แต่ทำงานด้านนี้มาตั้งแต่สมัยที่เรียกว่า “ยุคตกเขียว” ซึ่งคำว่า “ค้ามนุษย์” ยังไม่มี เซอร์มารีอักแนสเป็นคนแรกที่รับเด็กที่ถูกซื้อกลับมา และต้องตั้งโรงเรียนเพื่อพวกเขาโดยตรง ชื่อโรงเรียนเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ เป็นเด็กกลุ่มแรกที่คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ไถ่ตัวมา “เราถือว่าการศึกษาจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้เขามีภูมิคุ้มกันมากขึ้น หรือเรียกว่า “วัคซีน” ซึ่งในการทำงานมีนักบวชเข้าร่วมจากหลายคณะ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน”
เซอร์มารีอักแนส บัวทรัพย์ พบว่ามีเด็กนักเรียนตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้เสียหาย แต่คุณครูสามารถช่วยเหลือเด็กได้เร็วขึ้น และเล่าว่าครั้งหนึ่ง มีตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเดินมาหามาเซอร์ที่โรงเรียน ณ ตอนนั้น และบอกว่าขอมาเซอร์ช่วยบอกเด็ก ๆ ของมาเซอร์ในโรงเรียนคาทอลิก เพราะ “เป้าหมายของพวกค้ามนุษย์คือโรงเรียนคาทอลิก” และภัยอยู่ในเครื่องมือสื่อสารที่ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งความรู้กับความชั่วอยู่ในเครื่องเดียวกัน
นายรัชพล มณีเหล็ก ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ นำเสนอภารกิจการดำเนินงานของกองต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรฐานสากล ภารกิจคือการขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พัฒนาระบบและนวัตกรรมการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ฯ โดยมี 5 กลุ่มงาน 1 ฝ่าย คือฝ่ายบริหารงานทั่วไป นอกจากนี้ มีสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (ชายและหญิง) 8 แห่ง
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้หารือประเด็นความร่วมมือ เกี่ยวกับการสนับสนุนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) ความร่วมมือด้านการป้องกัน การใช้สื่อสร้างสรรค์ในสถานศึกษา การจดทะเบียนองค์กรเอกชน การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนต่อต้านการค้ามนุษย์ และอื่น ๆ
นายรัชพล มณีเหล็ก กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า “รู้สึกมีพลังที่ทราบว่าองค์กรศาสนาทำงานเยอะมาก เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นทั้งต่อครูและเด็ก เห็นหนทางที่ช่วยทำให้เราสามารถทำงานได้มากขึ้น” สุดท้าย ประโยชน์หรือผลดีจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เสียหาย หรือคนกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่เสียหายแล้ว
คุณพ่อไพรัช ศรีประเสริฐ กล่าวปิดการประชุมว่าถือเป็นนิมิตหมายที่ดี สำหรับผู้ที่ทำงานกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้มีโอกาสพบปะกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าคนที่เสียหายจากการค้ามนุษย์จะมีความช่วยเหลือที่เพิ่มมากขึ้น

















